
เปิดใจเบื้องหลังแชมป์โลกสาวมะกันถึงวงการฟุตบอลหญิงยุคปัจจุบัน อะไรทำให้อเมริกาได้แชมป์ อะไรทำให้ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้หมดท่า และอะไรที่ไทยยังต้องพัฒนา
เล่นไพ่บาคาร่า Give a Shout
โดย กฤติกร ธนมหามงคล
ชัยชนะของ “เดอะแยงส์” เหนือ “นาเดชิโกะ” ในนัดชิงฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 5-2 ที่แคนาดา ทำให้พวกเธอประกาศศักดาเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 3 หลังจากครั้งแรกเคยทำได้เมื่อปี 1991
ทีมงานโกล ประเทศไทย จึงต้องรีบยกสายพูดคุยกับ “โค้ชแดง” นพดล พิบูลย์เวช หัวหน้าการพัฒนาฟุตบอล สมาคมฟุตบอล จ.ชลบุรี และเคยร่วมเปิดอบรมโค้ชในโครงการ ช้าง-เอฟเวอร์ตัน โค้ชชิ่ง ในฐานะคนไทยเพียงหนึ่งเดียว ที่นับเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกซ็อคเกอร์หญิงแดนมะกัน โซนตะวันตก และร่วมสร้างผู้เล่นระดับตำนานมากมาย ทั้ง มีอา แฮม (เมีย แฮม), คาริน เจนนิ่ง, คริสติน ลิลลี่, จูลี่ โฟดี้, และ มิเชลล์ เอเคอร์ จนคว้าแชมป์โลกครั้งแรก เมื่อ 24 ปีก่อน
ความสำเร็จของสหรัฐอเมริกา, ความยอดเยี่ยมในแบบฉบับของญี่ปุ่นมีจุดอ่อนอะไร และ แข้งเนื้ออ่อนชุดประวัติศาสตร์ของไทยควรมีแนวคิดและเดินหน้าต่อไปอย่างไร “โค้ชแดง” จะมาร่วมแชร์วิสัยทัศน์
โกล ประเทศไทย : ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดี…
นพดล พิบูลย์เวช : ครับ ขอบคุณมากเลย ผมได้ดูทั้งเกมแหละ…ต้องบอกว่า อเมริกาดีกว่ามากนะเกมนี้ อาจคงเป็นเพราะความล้มเหลวก่อนหน้านี้ของพวกเขา ทำให้ถูกกระตุ้น ถูกตำหนิ แต่นั่นเป็นพลังให้หญิงอเมริกันกลับมา พวกเขาเล่นด้วย ความมั่นใจ แต่เราต้องชื่นชมญี่ปุ่นน่ะ เพราะหากเป็นชาติอื่น โดนแบบนั้นคงถอดใจกันไปแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ยังเป็นญี่ปุ่นวันยังค่ำ พวกเธอทำให้เกม 0 – 4 ในช่วงแรก กลายเป็นเกมที่สนุกได้…
โกล ประเทศไทย : ชุดที่คว้าแชมป์มีใครเคยเป็นลูกศิษย์ของ “โค้ชแดง” บ้างไหม?
นพดล พิบูลย์เวช : ลูกศิษย์รุ่นผมหลายๆคน จาก โครงการ Olympic Development Program เลิกเล่นกันไปหมดแล้วแหละ จะมีก็บางคนที่เคยเจอหน้าค่าตากันบ้าง อย่าง แอบบี้ วัมบัค (กองหน้ากัปตันทีมที่ลงมาในนาทีที่ 79 ในนัดชิง) ตอนนั้นเขากำลังเริ่มโด่งดัง สมัยที่ผมเป็นโค้ชที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน หรือ กระทั่ง โฮป โซโล ผู้รักษาประตู ก็เข้ามหาวิทยาลัยวอชิงตัน หลังผมออกมาแค่ปีเดียวเท่านั้น ส่วน โค้ช จิลล์ เอลลิส ผมก็รู้จักดี… พ่อของเธอเป็นโค้ชซ็อคเกอร์ดังชาวอังกฤษ เราอาจจะไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว แต่ทุกๆปี หลังเทศกาลคริสมาสต์ เราจะมีงานรวมตัวกันของโค้ชซ็อคเกอร์ทั่วประเทศ มากันเป็นพันๆ คน แล้วเราก็จะได้พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกันและกัน รวมถึงการถามไถ่เรื่องราวส่วนตัว
โกล ประเทศไทย : เห็นว่ามีคนในวงการบอลหญิงสหรัฐฯ เข้ามาแสดงความยินดีกับคุณมากมาย ในฐานะผู้บุกเบิก…
นพดล พิบูลย์เวช : มันก็มีบ้าง แต่วันนี้ยังไม่มีพวกดังๆ โพสต์เข้ามาน่ะ (หัวเราะ) คือ เราก็อยู่ในวงการตั้งแต่ยุคบุกเบิกซ็อคเกอร์หญิงของอเมริกา และก็เป็นหัวหน้าคัดเลือกนักเตะ ประจำฝั่งตะวันตก 13 รัฐ และก็อยู่ในทีมงานสต๊าฟฟ์โค้ชของทีมชาติ ในยุคเริ่มต้นมาตลอด แม้สุดท้ายผมจะไม่ได้เดินทางไปร่วมคว้าแชมป์โลก เมื่อปี 1991 ที่จีนด้วยก็ตาม
โกล ประเทศ : ภูมิใจอย่างไร?
นพดล พิบูลย์เวช : มันก็ภาคภูมิใจแหละ ที่เราเคยมีส่วนเกี่ยวข้องและบุกเบิกมันมา พร้อมๆ กับ เพื่อนๆ และอีกหลายๆคน ผมต้องพูดตามตรงว่า เรา (สหรัฐฯ) คือ ผู้ริเริ่มจริงจังกับ ซ็อคเกอร์หญิง ขนาด ญี่ปุ่น สมัยที่ผมยังอยู่อเมริกา พวกเขาก็เริ่มต้นด้วยการมาศึกษาดูงาน กับพวกเรา นำโดย ฮิโระ วาตานาเบะ เขาเข้ามาอยู่ในทีมสต๊าฟฟ์ แล้วกลับไปเป็นโค้ชทีมหญิง 19 ปี เมื่อร่วม 20 ปีก่อน พวกเรายึดเราเป็นโมเดลเหมือนกัน แต่วัฒนธรรมระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น มันทำให้ฟุตบอลของ 2 ชาตินี้เหมือนกัน